มาช่วยกันพัฒนาอัจฉริยะของลูกน้อยกันเถอะ
สมองของลูกน้อยของคุณ กำลังทำงานอย่างอัจฉริยะ อยู่ต่อหน้าคุณ คุณพ่อคุณแม่ทุกคน มีส่วนในการช่วยลูกของคุณ ให้เป็นเด็กที่มีความสามารถแบบอัจฉริยะตัวน้อยๆได้ค่ะ
ภายในช่วงสองขวบปีแรก สมองของทารกจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมาก คือเพิ่มจาก 300 กรัมเมื่อแรกคลอด เป็น 1,000 กรัมเมื่ออายุ 2 ปี น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้ ไม่ใช่เป็นจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเซลล์ประสาท แต่เป็นจากการที่มีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงศูนย์ต่างๆในสมอง (synapses) ให้มีการทำงานที่สอดประสานกัน
ถ้าปราศจากการเชื่อมโยงเครือข่ายเหล่านี้เข้าด้วยกันแล้ว มนุษย์เราก็ไม่สามารถ ทำการคิดวิเคราะห์ และทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ และด้วยเครือข่ายการเชื่อมโยงต่างๆ ในสมองนี้เอง ที่ทำให้ลูกน้อยของเรา ได้มีการเรียนรู้เกิดขึ้น
การทำการเชื่อมต่อเครือข่ายต่างๆ ของสมองนี้ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย ทุกครั้งที่ลูกได้มีโอกาสรับสิ่งเร้า จากการกระตุ้นผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า อันได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับรส การสัมผัส และการได้กลิ่น ซึ่งลูกน้อยของเราสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านทางประสาทสัมผัสเหล่านี้ได้ ตั้งแต่แรกเกิด ทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายเกิดมากขึ้น
การเรียนรู้อย่างเป็นกระบวนการนั้น เกิดขึ้นโดยอาศัยส่วนต่างๆของสมองที่มีหน้าที่แตกต่างกันมาร่วมทำงานประสานสอดคล้องกัน อย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น ถ้าไม่มีการมองเห็นภาพด้วยตา ลูกน้อยก็จะไม่สามารถเห็นของเล่นที่วางอยู่ตรงหน้าของเธอได้ และถ้าไม่มีความจำ ที่ถูกเก็บรวบรวมไว้ในสมองมาก่อนแล้ว ลูกก็จะไม่รู้สึกตื่นเต้นดีใจ เมื่อได้เห็นของเล่นชิ้นโปรด ที่วางอยู่ตรงหน้า ถ้าสมองไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดี ลูกก็จะไม่สามารถเอื้อมไปหยิบของเล่นชิ้นโปรดมาเล่นได้ และในการทำเช่นนั้น ลูกต้องใช้การทำงานที่ประสานกัน ระหว่างมือกับตา ในการคว้าของเล่นที่อยู่ต่อหน้า มาเล่น และถ้าทำเช่นนั้นไม่ได้ ลูกน้อยก็จะไม่ได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ว่า ของเล่นชิ้นนั้นคืออะไร และมีคุณสมบัติอย่างไร
ซึ่งในขั้นตอนพัฒนาการที่ลูกกำลังเรียนรู้นั้น เป็นงานที่ท้าทาย ให้สมองน้อยๆของลูก ได้มีโอกาสคิด และปรับปรุงระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายต่างๆของสมองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ทุกคน สามารถจะช่วยลูกน้อยของคุณได้
ในการที่จะให้ลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้สิ่งต่างๆนั้น คุณแม่สามารถช่วยได้ โดยการนำโลกรอบข้างตัว มาแนะนำให้ลูกได้รู้จัก เช่น ทารกมักจะชอบเสียงผู้หญิง ที่มีโทนสูง และจะทำท่าสนใจฟังทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนั้น คุณแม่ก็ควรที่จะทำเสียงสูงต่ำ พูดช้าๆ ชัดๆ และชวนลูกน้อยของคุณ คุยด้วยบ่อยๆเมื่อมีโอกาส ความสามารถในการติดต่อสื่อสารนั้น ลูกน้อยสามารถเรียนรู้เพิ่มขึ้น ได้อย่างรวดเร็ว ลูกสามารถตอบสนองต่อเสียงพูดของคุณแม่ ต่างจากเสียงพูดของคนอื่น
ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร
ในวันแรกของชีวิต ลูกจะทำหน้าให้คุณแม่รู้ว่า ได้ยินเสียงคุณแม่ที่กำลังคุยด้วย และจะดูดนมแรงขึ้น เมื่อได้ยินเสียงคุณแม่ พออายุได้ 3 วัน ลูกจะแสดงสีหน้าให้คุณแม่รู้สึกได้มากขึ้นว่า ได้ยินเสียงคุณแม่ และกลอกตาไปทางที่มาของเสียง พออายุได้ 2-3 สัปดาห์ลูกจะเริ่มทำเสียงในคอ ตอบคุณแม่ และเริ่มพยายามหันไปหาทิศที่มีเสียงมา
คุณแม่ควรพยายามพูดกับลูกน้อยของคุณ โดยให้หน้าอยู่ห่างจากลูก ประมาณ 8-10 นิ้ว สบตา พูดคุยกับลูกช้าๆ ทำเสียงให้น่าสนใจ ให้ลูกสามารถมองเห็นสีหน้าของคุณแม่ได้ง่าย ถ้าคุณแม่ขยันพูดกับลูกบ่อยๆ คุณแม่จะประหลาดใจ เมื่อเห็นว่า ลูกพยายามจะสื่อสารกับคุณแม่ โดยการทำปากเปิดๆ ปิดๆ และยื่นลิ้นออกมา ทำทีเหมือนกับการพูด เมื่ออายุประมาณ 1 เดือน และพออายุประมาณ 3 เดือน ลูกจะจับแยกเสียงคุณแม่ ที่แสดงความรู้สึกดีใจ หรือเสียใจได้
การรับกลิ่น และการรับรส
ลูกมีประสาทรับกลิ่นที่ค่อนข้างไวมากตั้งแต่แรกเกิด ลูกจะจำกลิ่นน้ำนม ของคุณแม่ได้ และลูกน้อยของคุณสามารถเรียนรู้กลิ่นกายของคุณพ่อได้ด้วย ถ้าลูกได้มีโอกาสใกล้ชิดกับคุณพ่อมากพอ ถ้าลูกได้กลิ่นเช่นกลิ่นแอมโมเนีย กลิ่นน้ำหอมฉุนๆ ลูกก็จะสามารถเบือนหน้าหนีได้ ตั้งแต่สัปดาห์แรกของชีวิต
การมองเห็น
ในเวลาที่ว่าง ลูกน้อยของคุณ ก็จะทำการสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวในห้อง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ลูกจะมองจ้องดู สิ่งที่เคลื่อนไหวช้าๆอยู่ตรงหน้า และบางครั้งจะทำท่าเหมือนกับว่า ลูกกำลังพยายามคว้าของเหล่านั้น ด้วยสายตา ดังนั้นเริ่มจากอายุ 2 อาทิตย์ขึ้นไป คุณแม่ควรให้ลูกได้มีโอกาส มองดูรอบๆ และให้วาง หรือห้อยแขวนสิ่งของ ที่มีสีสันสดใสข้างลูกในระยะห่างประมาณ 1 ฟุต เพื่อให้ลูกได้ฝึกการมอง และการกลอกตา จริงๆแล้วหน้าของคุณแม่ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นการมองของลูกได้เป็นอย่างดี เพราะสีที่ตัดกันของตาดำ ตาขาว ปากแดง ฟันขาว จะทำให้เด็กสนใจอยากมอง
การใช้กล้ามเนื้อ
คุณแม่สามารถสอนลูกน้อย ให้เริ่มรู้จักการใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย ในการสำรวจสิ่งต่างๆที่อยู่รอบข้างได้ โดยการจับมือของลูก มาทำท่าเหมือนปรบมือเข้าด้วยกัน เอานิ้วมือคุณแม่แหย่ที่ฝ่ามือฝ่าเท้าของลูกเบาๆให้รู้สึกจักกะจี้บ้าง หรือการออกกำลังแขนขาโดยการจับทำท่าต่างๆอย่างนุ่มนวล ในช่วงที่กำลังสบายๆหลังการป้อนนม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
อะไรๆก็เข้าปาก
พออายุได้ 3-4 เดือน ลูกจะเริ่มทำการสำรวจสิ่งต่างๆโดยการใช้ปาก อะไรก็ตามที่คุณแม่เอาใส่ให้ในมือของลูก จะถูกนำเข้าปาก เพื่อการสำรวจก่อนเสมอ โดยการทำเช่นนี้ ลูกน้อยของคุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับรส อุณหภูมิร้อนเย็น ความอ่อนแข็ง และรูปทรงของสิ่งของต่างๆด้วย
ขอลองทำดูสักนิด
พออายุได้ 4 เดือนขึ้นไป ลูกน้อยเริ่มที่จะเรียนรู้คอนเซปต์ ของการกระทำและผลที่จะตามมา ลูกจะเริ่มรู้ว่า ถ้าขยับบางส่วนของร่างกาย จะมีบางอย่างที่น่าตื่นเต้นตามมา เช่น เมื่อขยับมือที่ถือกระดิ่งไปมา ลูกจะได้ยินเสียงกระดิ่ง หรือถ้าเอามือปัดโมบาย ที่แขวนอยู่ตรงหน้า โมบายจะหมุน โดยการได้เรียนรู้คอนเซปต์นี้ ทำให้ลูกน้อยสามารถพัฒนาตนเองต่อไปอีกได้เมื่อโตขึ้น เช่น ถ้าพยายามคลานไปอีกสักนิด ก็จะได้ของเล่น หรือเล่นตุ๊กตาหมีที่อยู่ไกลออกไป หรือถ้าดึงผ้าที่คลุมของเล่นออก ก็จะได้ของเล่นที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ผ้า พอลูกอายุได้ 4 เดือนเศษ ลูกจะมีความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากขึ้น คราวนี้จะไม่เพียงแต่ทำการสำรวจสิ่งต่างๆด้วยปากเท่านั้น แต่ลูกจะใช้มือในการสำรวจสิ่งต่างๆ เพื่อที่จะเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับของสิ่งนั้น ให้ได้มากที่สุด
คุณแม่สามารถเลือกของที่มีลักษณะและคุณสมบัติของสิ่งต่างๆ โดยคุณแม่อาจเลือกของที่มีคุณสมบัติตรงข้ามกันให้ลูกสำรวจเปรียบเทียบกันในเวลาเดียวกัน เช่น ของที่มีความนุ่มกับของแข็ง ของที่มีเหลี่ยมมุมกับของกลม ซึ่งจะช่วยให้ลูกน้อยของคุณแม่ได้เข้าใจถึงความแตกต่างได้ดีขึ้น
คุณแม่ยังสามารถสอนลูกน้อยเพิ่มเติมได้อีก เช่น พูดคำว่า “บอล” “กลิ้งบอล” “กลิ้งบอลกลมๆ” เมื่อเล่นกลิ้งลูกบอลเล็กเข้าหาลูก หรือบอกลูกว่าเหลี่ยม เมื่อเอาของชิ้นสี่เหลี่ยมใส่ในมือลูก เพื่อให้ลูกได้รู้สึกถึงความแตกต่างจากของกลม ที่คุณแม่เพิ่งเอาใส่ในมือเธอเมื่อสักครู่
นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถแสดงให้ลูกรู้ได้ว่าไม่ใช่แต่ลูกบอลเท่านั้น ที่กลิ้งได้ แต่ของอื่นที่มีลักษณะกลมเช่นกันจะกลิ้งได้ โดยการกลิ้งส้ม หรือม้วนไหมพรมให้ลูกเห็น และให้ลูกได้ลองทำดู ซึ่งพบว่า เด็กอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไปจะสามารถเข้าใจในคอนเซปต์นี้ และเมื่อคุณแม่กลิ้งส่งของกลมๆให้ลูก ลูกจะกลิ้งกลับให้คุณแม่ แต่ถ้าคุณแม่ส่งของเหลี่ยม ที่กลิ้งไม่ได้ เช่น บล็อก หรือหนังสือให้ลูก ลูกจะไม่พยายามกลิ้งของนั้นกลับให้คุณแม่
ให้โอกาสลูกน้อยของคุณ ในการฝึกใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า เพื่อให้ได้เรียนรู้คอนเซปต์ต่างๆ โดยการทำอย่างที่ได้แนะนำมาแล้วในตอนแรก คุณแม่สามารถสอนคอนเซปต์ของความแตกต่าง เช่น ความนุ่มกับความแข็ง ความร้อนกับความเย็น ความแห้งกับความเปียก ฯลฯ โดยการพยายามใช้สิ่งของ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว มาเป็นสื่อการสอน และพยายามพูดคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องให้ลูกฟังซ้ำๆ รวมทั้งพยายามแสดงถึงคุณสมบัติของสิ่งต่างๆด้วย
ถึงแม้การทำอย่างนี้ อาจดูว่าไม่น่าสนใจ สำหรับคุณแม่ แต่สำหรับลูกน้อยของคุณแล้ว สิ่งเหล่านี่เป็นสิ่งแปลกใหม่ ที่ลูกกำลังกระหายจะเรียนรู้ และเป็นรากฐานที่สำคัญ ในการที่ลูกจะเรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่มีในโลกของเธอต่อไป
กลวิธีที่คุณแม่ใช้ในการสอนลูกน้อยก็มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น เช่น ถ้าคุณแม่จะพยายามบอกลูก ถึงของสิ่งเล็กๆ โดยการทำเสียงพูดเบาๆ กระซิบที่ข้างหูของลูกว่า “ตัวนิ้ด นิ้ด” ก็จะช่วยให้ลูกสามารถเข้าใจ ถึงความเล็กของมันได้ง่ายขึ้น ในการสอนลูกถึงความนุ่ม คุณแม่ก็สามารถใช้โทนเสียงที่นุ่มนวล ขณะที่เอาตุ๊กตาของเล่นที่นุ่มๆมาเขี่ยเบาๆที่ข้างแก้มของลูก และคุณแม่สามารถสอนเกี่ยวกับความเปียกได้โดยการเอามือของเธอไปรองน้ำที่ไหลออกมาจากก๊อกน้ำที่อ่างล้างมือ พร้อมๆกับการพูดคำว่า “เปียก เปียก” “น้ำเปียกมือ”
ความจำของลูกน้อยก็พัฒนาได้เร็วพอๆกับความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ สิ่งหนึ่งที่คุณแม่สามารถช่วยฝึกสมาธิ และความจำของลูกคือ การเล่นและการทำซ้ำๆ เช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ หรือ การร้องเพลงเด็ก เช่น “จับปูดำ ขยำปูนา” ซ้ำแล้วซ้ำอีก เมื่อลูกเกิดความคุ้นเคย กับสิ่งเหล่านี้แล้ว เธอก็จะสามารถใส่ใจ กับคำที่ใช้ในเพลง หรือท่าทางที่คุณแม่ทำให้เธอดู และเริ่มทำตามได้อย่างสนุกสนาน
การแสดงท่าทาง ที่มีความสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ที่เริ่มให้ลูกได้สัมผัสเรียนรู้ โดยการใช้น้ำเสียง และกริยาท่าทาง ที่เหมาะสม จะช่วยลูกในการแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกัน และช่วยในการเรียนรู้ของลูก ได้อย่างรวดเร็ว เช่น คุณแม่อาจพูดกับลูกว่า “ดูนี่ซิคะ ดอกไม้แดง ซ้วย สวย กลิ่นห้อม หอม” และทำท่าดมดอกไม้นี้ ให้ลูกดู ไม่นานต่อมา ลูกก็จะเริ่มทำท่าดมดอกไม้อื่นๆ ที่เธอเห็นด้วย หรือคุณแม่อาจทำท่า ขยับแขนแบบนกบิน พร้อมๆกับพูดว่า “นั่นนก นกบิน บินน....” เมื่อลูกเห็นนกมาเกาะที่หน้าต่าง ซึ่งต่อมาลูกก็จะเริ่มทำท่า ขยับแขนขึ้นลงแบบนก เมื่อเธอได้เห็นนกอีก
เมื่ออายุได้ประมาณ 10 เดือน ลูกจะเริ่มมีความจำ และความเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ที่จะช่วยแยกแยะลักษณะเฉพาะ ของของแต่ละสิ่ง ที่มีความแตกต่างกัน ลูกจะเริ่มแยกแยะได้ว่า เจ้าตัวขนยาวๆที่เดินไปมาในบ้านนี้ คือแมว และแมวชอบร้องเหมียวๆ ขณะที่ตัวที่มีขนเกรียน อยู่นอกบ้าน และชอบเห่าเสียงโฮ่งๆ คือหมา การที่คุณแม่เล่นกับลูกโดยการทำเสียง เหมียวๆ หรือโฮ่งๆ เมื่อเด็กเห็นสัตว์นั้นๆ จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้ คำศัพท์และเข้าใจคอนเซปต์ของสัตว์นั้นได้ง่ายขึ้น
ในการที่ลูกสามารถแยกแยะความแตกต่างของสัตว์ต่างชนิด คนอื่นๆ และสิ่งของต่างๆได้นั้น ลูกเองก็กำลังเรียนรู้ ความเป็นคนพิเศษของตนเอง ซึ่งเมื่อลูกเริ่มได้คอนเซปต์ ของการเป็นตัวเองแล้ว ก็จะช่วยส่งเสริมความรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า มีความสำคัญ
คุณแม่สามารถช่วยให้ลูก มีความรู้สึกในการเป็นตัวเองได้ โดยการให้ลูกมองภาพของตนเองในกระจกเงา พร้อมกับการเรียกชื่อของลูก เพื่อให้ลูกเริ่มรู้จักหน้าตาของตนเอง ซึ่งสัมพันธ์กับชื่อที่คุณแม่เรียก และควรจะใช้ชื่อเพียงชื่อเดียว ในการเรียกชื่อลูก เพื่อไม่ให้ลูกเกิดความสับสน ว่าชื่อไหน หมายถึงเธอจริงๆ และจะเป็นการช่วยให้ลูกได้เข้าใจ เกี่ยวกับการเป็นตัวเธอเองโดยการเรียกชื่อของลูก เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ ในสิ่งของที่ลูกมี เช่น “นี่คือตุ๊กตาหมีของลูกแก้ว” “คุณแม่กำลังแปรงผมของลูกแก้วอยู่ ผมของลูกแก้วสวยจัง”
ในขณะที่ลูกเริ่มมีคอนเซปต์ ของการเป็นตัวเธอเองนั้น เธอก็กำลังเริ่มเข้าใจบทบาท และความสัมพันธ์ระหว่างคุณแม่กับตัวของเธอได้ดีขึ้น และการที่คุณแม่ตอบสนอง และให้ความรัก และทะนุถนอมต่อกริยาต่างๆที่ลูกแสดงออกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ทำให้ลูกได้รับความรู้สึกว่า ตนเองเป็นที่รัก และมีความสำคัญ เป็นคนที่มีคุณค่า ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และมีความเป็นตัวเองมากขึ้น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการพัฒนาการของเด็ก
ที่ได้แนะนำมาทั้งหมดนี้ ยังอาจไม่สมบูรณ์ และไม่ได้หมายความว่า ถ้าคุณแม่คุณพ่อได้ทำตามแล้ว จะทำให้ลูกอันเป็นที่รักยิ่งของเราเป็นเด็กอัจฉริยะได้ในชั่วข้ามคืน เพราะการอบรมเลี้ยงดูลูกนั้น ต้องอาศัยปัจจัย และตัวแปรอีกหลายอย่างมาประกอบ แต่ก็เชื่อแน่ว่า ด้วยความรัก ความเอาใจใส่ อย่างที่มีเหตุผลที่คุณพ่อและคุณแม่ ให้แก่ลูก จะทำให้ลูกของเราได้เจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และถ้าลูกมีความสามารถ ที่จะเป็นอัจฉริยะได้ เขาก็ได้มีโอกาสที่จะแสดงให้คนอื่นๆได้รับรู้ว่า เขานั่นแหละคืออัจฉริยะตัวจริง ที่คุณพ่อคุณแม่ได้พยายามฟูมฟักมาตั้งแต่แรกเกิดนั่นเอง
สำหรับตอนนี้ ก็ขอให้คุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามอ่านมาถึงบรรทัดนี้ ได้แง่คิดและได้ประสบความสำเร็จ ในการดูแลลูกน้อยได้อย่างที่ตั้งใจไว้ อย่างน้อยก็ขอให้ยึดคติที่ว่า “การเริ่มต้นที่ดีเท่ากับสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง” นะคะ