โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ Urinary tract infection (UTI)
By: health.phahol
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ หมายถึงเกิดการอักเสบของระบบขับปัสสาวะซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ท่อปัสสาวะจนถึงไต สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคแถวบริเวณท่อปัสสาวะ
ระบบทางเดินปัสสาวะของคนเราประกอบไปด้วย ไต(kidney) และท่อไต(ureter) 2 ข้าง กระเพาะปัสสาวะ(bladder) และท่อปัสสาวะ(urethra)
ไตทำหน้าที่กรองของเสียเป็นปัสสาวะและนำออกทางท่อไตสู่กระเพาะปัสสาวะ และขับออกทางท่อปัสสาวะ
ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย 8-10 เท่า ประมาณว่าคุณผู้หญิง 1 ใน 5 คนเป็นเคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุของทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ปัสสาวะปกติประกอบด้วยน้ำและเกลือ ไม่มีเชื้อโรค การติดเชื้อเกิดเมื่อมีเชื้อโรคโดยมากมาจากทางเดินอาหารจากอุจจาระลุกลามมาท่อปัสสาวะ(urethra) ทำให้เกิดการอักเสบเรียก Urethritis
หากเชื้อนั้นลามเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ เรียก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ Cystitis
และหากไม่ได้รักษาเชื้อจะลุกลามไปท่อไต และไต เรียก กรวยไตอักเสบ Pyelonephritis
เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ E. coli เป็นเชื้อปนเปื้อนจากอุจจาระ นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อ Chlamydia และ Mycoplasma ก็สามารถทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ เชื้อดังกล่าวเกิดจากเพศสัมพันธ์การรักษาต้องรักษาทั้งคู่
ใครมีโอกาสเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
* ผู้ที่มีนิ่วทางเดินปัสสาวะ
* ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต
* ผู้ที่คาสายปัสสาวะ
* ผู้ป่วยที่ระบบประสาทควบคุมการปัสสาวะเสียเช่นโรคเบาหวานประสาทไขสันหลังอักเสบ
* ผู้หญิงมีโอกาสเกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชายและตำแหน่งที่เปิดอยู่ใกล้กับทวารหนัก และช่องคลอดทำให้เชื้อลุกลามมาที่ท่อปัสสาวะได้ง่าย
* การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย มักจะพบร่วมกับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากโต หรือจากคาสายสวนปัสสาวะ
ผู้ป่วยที่มีทางเดินปัสสาวะอักเสบจะมีอาการอะไรบ้าง
ผู้ป่วยที่มีท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะจะสุดแล้วจะปวด บางรายมีคราบหนองติดกางเกง
ผู้ป่วยที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะมีอาการ ปวดหน่วงๆท้องน้อย ปัสสาวะออกครั้งละน้อยๆ ปวดมากเมื่อปัสสาวะจะสุด บางรายมีเลือดออก
ผู้ป่วยที่มีกรวยไตอักเสบ pyelonephritis จะมีอาการเหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่จะมีไข้ ปวดเอว ปัสสาวะขุ่น
ชนิดของการติดเชื้อ
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง การติดเชื้อที่รูเปิดของปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต ถือว่าเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง อาการมักไม่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต ยกเว้นคนไข้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน การติดเชื้อที่ไตแบ่งตามกายวิภาคเป็นการติดเชื้อที่กรวยไต ติดเชื้อที่เนื้อไต ติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆไต อาการมักรุนแรงตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อ ดังนี้
* มีไข้สูงหนาวสั่้น
* เจ็บปวดบริเวณสีข้าง ข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง ร้าวไปด้านหลัง
* อ่อนเพลีย รับประทานน้ำและอาหารไม่ได้
* น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจากความเจ็บป่วย ไข้สูง
* คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กินข้าว ดื่มน้ำไม่ได้
* ความดันโลหิตตก
* ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึม เบลอ ไม่พูดไม่จา ฯลฯ
ข้อแนะนำ
1. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว
2. ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะก็ควรเข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรอดทนอั้นไว้
3. สำหรับผู้หญิงหลังจากปัสสาวะแล้วควรจะทำความสะอาดโดยเช็ดจากหน้าไปหลัง เพราะบริเวณทวารหนักอาจจะมีเชื้อโรคจากลำไส้ ถ้าทำความสะอาดเช็ดจากหลังมาหน้าอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะได้
4. คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ ควรดูแลไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
5. หลังทานยาปฏิชีวนะควรจะทานโยเกิร์ตที่ประกอบไปด้วยจุลชีพที่มีประโยชน์ตาม การรับประทานโยเกิร์ตนั้นมีประโยชน์เพราะเป็นแลคโตบาซิลัส หากทานเป็นประจำจะป้องกันเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในลำไส้และทางเดินปัสสาวะ คลิกที่นี่...วิธีทำโยเกิร์ตรับประทานเอง
6. รับประทานผัก ผลไม้ อาหารเสริมที่มีวิตามินซีเป็นองค์ประกอบจะมีประโยชน์ ทำให้ทางเดินปัสสาวะเป็นกรดยากต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ
7. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้