ผมสารภาพครับ ผมเคยทำให้คนตายเพราะการไหว้ของผมมาแล้วอย่างน้อยๆก็ 2 ราย สงสัยล่ะสิ...
เอ้าว่ากันเลย รายแรกนี่เป็นลูกน้องในแผนกสมัยผมยังทำงาน อายุน้อยกว่าผม 2-3 ปี เขาเป็นคนขยันทำงานเก่ง ผมติดขัดอะไรก็ได้เขานี่แหละเป็นคนแก้ไขและให้คำปรึกษาอยู่เสมอ ผมจึงนับถือเขาเสมือนอาจารย์ เจอกันตอนเช้าในที่ทำงานผมจะไวกว่ายกมือไหว้สวัสดีเขาก่อนทุกครั้ง แล้ววันหนึ่งผมก็ได้ทราบข่าวร้ายมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้พาเขาไปจากโลกนี้อย่างไม่มีวันกลับ
รายหลังนี่บ้านอยู่ใกล้กันผมตั้งใจเองเพราะผมไม่ชอบขี้หน้าเขา เป็นคนเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจสุดจะบรรยาย และอีกอย่างผมอยากจะพิสูจน์ว่าเป็นไปได้ไหมถ้าเราเกลียดใครสักคนที่มีอายุน้อยกว่าเราอยากให้เขาจากโลกนี้ไปไวๆก็ยกมือไหว้สวัสดีเขาก่อนทุกครั้งที่พบกัน...
ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ สิบห้าวันให้หลังได้ข่าวเขานอนแผ่หราอ่านหนังสือพิมพ์กลางถนน เสร็จยมบาลไปอีกราย
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมไม่กล้ายกมือไหว้สวัสดีคนที่มีอายุมากหรือน้อยกว่าผมอีกเลย ใครๆจะนินทาว่าผมเป็นคนหยิ่งไม่มีสัมมาคารวะก็ช่างผมไม่สนใจปล่อยให้เข้าใจไปอย่างนั้นแหละ...
บอกกันตรงๆ ผมกลัวประวัติศาสตร์จะเดินย่ำซ้ำรอยเดิมครับ
การไหว้...
ข้อมูล: เครือข่ายกาญจนาภิเษก
การไหว้ เป็นมารยาทไทยที่สืบทอดกันมาช้านาน เป็นวัฒนธรรมการทักทาย เวลาพบปะกันหรือลาจากกัน "การไหว้" เป็นการแสดงถึงความมีสัมมาคารวะ และการให้เกียรติซึ่งกันและกัน นอกเหนือจากการกล่าวคำว่า "สวัสดี" แล้วยังแสดงออกถึงความหมาย "การขอบคุณ" และ "การขอโทษ"
การไหว้เป็นการแสดงมิตรภาพ มิตรไมตรี ที่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม โดยยกมือสองข้างประนม นิ้วชิดกัน ปลายนิ้วจรดกัน ไม่แยกปลายนิ้วออกจากกัน ยกมือขึ้นในระดับต่างๆ ตามฐานะของบุคคล และเมื่อมีผู้ทำความเคารพด้วยการไหว้ ต้องรับไหว้ทุกครั้ง การรับไหว้ใช้ประนมมือแค่อก แล้วยกขึ้นเล็กน้อย ก้มศีรษะ
คำที่มักจะกล่าวในขณะที่ไหว้เพื่อทักทายหรือกล่าวลานั้นคือ คำว่า สวัสดี ซึ่งรัฐบาลชาตินิยมสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงต้นของคริสต์ทศวรรษ 1940 ได้มีการสนับสนุนการใช้คำว่า "สวัสดี" กับข้าราชการของรัฐบาล รวมไปถึงอาณาประชาราษฎร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวความคิดที่ต้องการปรับปรุงวัฒนธรรมของประเทศให้ทันสมัย
การไหว้เดิมนั้นมาจากการทักทายตามแบบโบราณ ซึ่งเป็นการแสดงออกให้เห็นว่าผู้ทักทายทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่มีอาวุธทั้งสิ้น ซึ่งการไหว้มีอยู่หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับสถานะทางสังคม เพศและวัย
ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งนั้นกล่าวว่า การไหว้นั้นมาจากพุทธศาสนา ซึ่งมาจากการกราบพระสงฆ์สามครั้ง
การประนมมือ:
การประนมมือไหว้นั้น ฝ่ามือทั้งสองข้างจะต้องทาบทับกัน ปลายนิ้วตั้งขึ้นทาบสนิทกัน ทำหลังมือให้โป่งออกเล็กน้อย ไม่ต้องมากเป็นดอกบัวตูมและไม่แบนราบเป็นใบไม้ แขนแนบตัวระดับอก ไม่กางศอก ทั้งชายและหญิงปฏิบัติเหมือนกัน การประนมมือนี้ใช้ในการสวดมนต์ ฟังพระสวดมนต์ ฟังพระธรรมเทศนา และขณะพูดกับพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ เป็นต้น
ระดับการไหว้ มีด้วยกัน 3 ระดับ
ไหว้พระ:
ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะ จรดหัวแม่มือที่กลางหว่างคิ้ว นิ้วชี้แตะที่เหนือหน้าผาก ก้มหัวให้หน้าขนานกับพื้น ค้อมหลังพอประมาณ
ชาย ยืนแล้วค้อมตัวลงให้ต่ำพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลงให้ต่ำโดย ถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งตามถนัด พร้อมยกมือขึ้นไหว้
ไหว้ผู้มีพระคุณและผู้อาวุโส:
เช่นเดียวกับการไหว้พระ แต่นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้จดหว่างคิ้ว
ชาย ยืนแล้วค้อมตัวลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลงน้อยกว่าระดับการไหว้พระ โดยถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้
ไหว้บุคคลทั่วไปและผู้เสมอกัน:
ประนมมือขึ้น ก้มศีรษะเล็กน้อย หัวแม่มือจรดที่ปลายคาง นิ้วชี้แตะที่จมูก ค้อมหลังพอประมาณ
ชาย ยืนแล้วค้อมตัวลง น้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้
หญิง ยืนแล้วย่อเข่าลง น้อยกว่าระดับการไหว้ผู้มีพระคุณ โดยถอยเท้าข้างใดข้างหนึ่งเล็กน้อย พร้อมกับยกมือขึ้นไหว้