PlayListนี้ เริ่มต้นด้วย "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน" เรียงลำดับตั้งแต่ ตอนแรก ถึง ตอนปัจจุบัน ..ท้ายเพลย์ลิสท์เป็นคลิป "เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำขัดรัฐธรรมนูญ : จะทำอย่างไร?" วันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2556 เวลา 13.00 - 16.00 น. ห้องกมลทิพย์ ชั้น 2 โรงแรมสุโกศล (สยามซิตี้เดิม) คลิปนี้..วิทยากร รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นเริ่มนาที 0:14:24
คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...
หรือคลิกที่นี่.. @ AsiaUpdate "เล่าเรื่อง ตาดูดาวเท้าติดดิน"

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

คลิกที่นี่ ดูบนyoutube...

วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2554

32 ตาแดง...แผลงฤทธิ์


ตาแดง...แผลงฤทธิ์
by: ผศ.พญ.ภิญนิดา ประภาสะวัต

ช่วงหน้าฝนอย่างนี้ ตาแดงมาเยี่ยมเยียนกันบ่อยๆ เป็นแล้วไม่สนุก ทั้งคันทั้งปวดลูกตา ลูกเล็กกระจองอแง แล้วยังติดต่อกันได้ง่าย แค่เอาหัวชนกันก็ติดแล้ว... หาทางป้องกันไว้ก่อนดีกว่า

"แม่ขา หนูเจ็บตา แสบตาด้วย"

เด็กหญิงลูกน้ำร้องบอกคุณแม่ในตอนเช้าวันหนึ่ง ขณะเตรียมตัวไปโรงเรียนพร้อมกับขยี้ตาป้อยๆ คุณแม่หันไปดูลูกสาวตัวน้อยวัย 4 ขวบ หน้ากลมขาวใส ตากลมโต พบว่า ตาลูกน้อยข้างขวากลับมีขี้ตาแฉะๆ ร่วมกับตาขาวใสดีกลับแปรสภาพเป็นสีชมพูไปทั้งตา แถมตาที่เคยโตดีกลับดูเล็กลงกว่าเดิม เอ! ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ ดูสิ เจ้าลูกหมูอ้วนตัวกลมวัย 1 ขวบ ทำท่าขยี้ตาเลียนแบบพี่สาวด้วย หรือจะโรคเดียวกันแล้ว

คุณหมอตา (หมอรักษาตา แต่ไม่ได้ชื่อตา) บอกว่า ทั้งลูกน้ำและลูกอ๊อดเป็นโรคตาแดงทั้งคู่เลย คำตอบคุณหมอ ทำเอาคุณแม่นั่งงง ไม่รู้ว่าเริ่มต้นดูแลลูกยังไงที่สำคัญจะป้องกันยังไง ไม่ให้เจ้าตัวกลมนี้ไปแพร่เชื้อต่อให้เพื่อนๆด้วย คุณหมอคงไม่อยากให้คุณแม่วิตกกังวลมาก เลยให้ความรู้มามากมาย อย่างที่เอามาฝากกันนี่แหละค่ะ

ตาแดงบอกอะไร

จริงๆ ถ้าพูดถึงอาการ "ตาแดง" โดยทั่วไปหมายถึง เยื่อบุตา หรือส่วนที่เราๆท่านๆ เห็นกันว่าเป็นตาขาว เกิดการอักเสบขึ้นมา ด้วยสาเหตุหลายๆประการ เช่น อาจเป็นเยื่อบุตาอักเสบเอง ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือภูมิแพ้ กระจกตาหรือตาดำอักเสบเป็นแผล ม่านตาอักเสบ ต้อหินเฉียบพลัน หรือโรคท่อน้ำอุดตันแต่กำเนิด ซึ่งพบในเด็กเล็กๆอายุต่ำกว่าขวบ เป็นต้น สารพัดโรคเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการตาแดงขึ้นมาได้ ซึ่งควรจะต้องไปพบจักษุแพทย์เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

ตาแดงยอดนิยม

หรือแบบที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า "โรคตาแดง" นั้น ส่วนใหญ่เป็นโรคตาแดงอันเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งทำให้เยื่อบุตาอักเสบ บางคนอาจจะใช้คำว่า โรคตาแดงระบาด เพราะ เป็นโรคที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก โรคตาแดงนี้สามารถพบได้ตลอดปี และจะระบาดได้เป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน เช่น ในช่วงเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้ โรคนี้จริงๆแล้วเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับหวัด ใครจะเป็นก็ได้ แต่เนื่องจากในเด็กมีภูมิคุ้มกันน้อย ร่วมกับการดูแลตนเอง หรือการป้องกันการติดเชื้อไม่ดีพอ จึงทำให้เป็นโรคตาแดง ได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เชื้อไวรัสที่ว่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อที่มีชื่อว่า อดิโนไวรัส (Adenovirus) และส่วนน้อยเกิดจากเชื้อ พิโคร์นาไวรัส (Picornavirus)

เจ็บ เคือง เหมือนมีทรายอยู่ในตา

"โรคตาแดง" นี้สามารถมีอาการได้ตั้งแต่น้อยถึงมาก โดยมีอาการตาแดง มีขี้ตามาก โดยเฉพาะช่วงเช้าๆ น้ำตาไหล เจ็บตา เคืองแสบตา เนื่องจากว่าเยื่อบุตาอักเสบ เกิดมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึก เหมือนมีทรายอยู่ในตา อาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้ตาดูแดงจัด ถ้าเป็นมากอาจพบมีเปลือกตาบวมแดงร่วมด้วย จึงทำให้ตาดูเหมือนมีขนาดเล็กลง เด็กหรือผู้ป่วย ที่เป็นโรคตาแดงมักมีอาการหวัดนำมาก่อน เช่น เจ็บคอ มีไข้ เพราะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน

อาการต่างๆเหล่านี้ ถ้าเป็นในเด็กเล็กต่ำกว่าขวบ ก็จะมีอาการเช่นเดียวกับเด็กโต แต่เด็กเล็ก ไม่สามารถบอกอาการเองได้ ดังนั้น การจะทราบว่า เด็กมีอาการจึงต้องใช้ความสังเกตของคุณพ่อคุณแม่ว่า เด็กมีตาแดง ตาดูฉ่ำๆ ขยี้ตา หรือกระพริบตาบ่อยกว่าปกติ มีขี้ตาติดที่หัวตาหรือที่เปลือกตาโดยเฉพาะช่วงตื่นนอน ร้องไห้งอแงกว่าปกติ ฯลฯ หรือไม่

เมื่อตรวจร่างกายจะพบว่า มีเยื่อบุตาอักเสบแดง อาจบวมเล็กน้อย มีตุ่มเล็กๆขึ้นที่เยื่อบุตาด้านในของเปลือกตา ถ้าเป็นมากอาจพบแผ่นเยื่อบางๆ ของหนองคุมอยู่ที่เยื่อเปลือกตาด้านใน อาจพบต่อมน้ำเหลืองหน้าหูโตร่วมด้วย ระดับสายตาเป็นปกติไม่มัวลง ยกเว้นมีกระจกตาหรือตาดำอักเสบร่วมด้วย โรคนี้จะเป็นอยู่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ จากนั้น อาการตาแดง มีขี้ตาจะหายไป ผู้ป่วยจะสบายตาขึ้น ไม่เคืองตามาก อาการดีขึ้นจนกระทั่งเป็นปกติ

ระวัง! กระจกตาอักเสบ

ในผู้ป่วยบางราย จะพบมีกระจกตาอักเสบร่วมด้วย โดยอาจเริ่มมีกระจกตาอักเสบในระยะที่เริ่มเป็น คือประมาณตั้งแต่วันที่ 3 หลังจากมีตาแดง หรืออาจ เกิดระยะหลังคือ 1-2 สัปดาห์หลังตาแดง ซึ่งทำให้แทนที่จะมีอาการดีขึ้นกลับจะมีอาการตามัวลง เคืองตามาก ตาสู้แสงไม่ได้ เนื่องจากกระจกตาเกิดการอักเสบ มีจุดเล็กๆเกิดขึ้นที่ชั้นผิวของกระจกตา กระจกตาอักเสบนี้ ในบางรายอาจอยู่นานเป็นหลายๆเดือนหรือเป็นปีได้ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถเห็นจุดนี้ได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากจักษุแพทย์

นอกจากนั้นในเด็กเล็กๆ เขาไม่สามารถบอกอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ให้ทราบได้ จึงต้องให้แพทย์ดูเป็นหลัก


การรักษา...เน้นยาหยอด

เมื่อคุณแม่ทราบเช่นนี้จากคุณหมอก็รู้สึกโล่งใจว่า อย่างไรลูกน้ำกับลูกอ๊อดก็จะยังมีสายตาที่ดีใช้ได้อยู่ต่อไป หลังจากมีตาแฉะไปประมาณ 2-4 สัปดาห์ โดยคุณหมอให้ยามาหยอด และป้ายตาลูกน้อยทั้งสอง โดยอธิบายว่า ยารับประทานในโรคนี้ไม่มีความจำเป็น ยาหยอดตาที่ได้เป็นยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน จากเชื้อแบคทีเรีย ยังไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสนี้โดยตรง ดังนั้นถึงแม้ว่า หยอดยาแล้วลูกน้ำและลูกอ๊อดก็จะยังมีตาแดงต่อไป ได้อีกระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นไปตามการดำเนินของโรค แต่ก็จะดีขึ้นและหายภายใน 2-4 สัปดาห์

ถ้ามีอาการไม่สบายตาหรือตาบวมมาก ก็สามารถใช้น้ำแข็งประคบได้ ถ้ามีขี้ตามาก ควรจะทำความสะอาดเปลือกตา หรือขอบตาด้วยสำลีชุบน้ำสะอาด

หยอดตาให้ลูกเล็ก

ในเด็กเล็กมาก การหยอดยาทำได้ลำบาก อาจพิจารณาให้ยาป้ายเพียงอย่างเดียว แต่ถ้าจะใช้วิธีหยอดยา หรือป้ายยาก ก็ให้คุณแม่ดึงเปลือกตาล่างลงมา พร้อมกับให้ลูกมองขึ้นบนเพียงเท่านี้ ตาของลูก ก็จะมีช่องพอที่จะให้คุณแม่หยอดยาหรือป้ายยาลูกได้ถนัดขึ้น หากในเด็กเล็กอาจต้องให้ใครช่วยจับศีรษะ หาอะไรมาหลอกล่อ ให้เหลือกตาขึ้นข้างบนกันดิ้นดุกดิกเสียหน่อย ก็จะพอหยอดยาได้

ติดต่อได้ง่ายนิดเดียว

สิ่งสำคัญยิ่งที่คุณหมอแนะนำคุณแม่คือ โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายมากๆ โดยติดต่อได้จากทั้งขี้ตาและน้ำตาของผู้ป่วย (แต่มิใช่ติดต่อจากการแค่มองตากันหรือจากแมลงหวี่ตอมตา ดังเช่นบางคนเข้าใจผิด)

ถ้าใครโดนน้ำตาหรือขี้ตาผู้ป่วยแล้ว เผลอขยี้ตาหรือเช็ดตาตัวเองเข้า ก็จะสามารถติดได้ หรือลูกน้อยเอามือที่ขยี้ตามีเชื้อโรคอยู่ ไปป้ายเปะปะตามที่ต่างๆ ก็จะทำให้คนอื่นติดเชื้อกันได้เหมือนกัน ยิ่งในเด็กเล็กๆ ยิ่งได้รับเชื้อหรือแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายใหญ่ อย่างในรายลูกน้ำเป็นตาขวา ต่อมาก็อาจเป็นตาซ้ายด้วยได้ และติดต่อไปให้เด็กๆด้วยกันอย่างเช่นลูกอ๊อดด้วยได้ หรือติดต่อมายังคุณพ่อคุณแม่ด้วยก็ได้ถ้าไม่ระมัดระวัง

คุณหมอยังบอกต่อไปอีกว่า การแพร่กระจายเชื้อนี้ผู้ป่วย สามารถติดต่อไปให้ผู้อื่นได้ ตั้งแต่เริ่มเป็นตาแดง จนกระทั่ง 2 สัปดาห์หลังจากนั้น ดังนั้นพรุ่งนี้ ลูกน้ำกับลูกอ๊อดก็จะอดไปโรงเรียน รวมทั้งอดเรียนว่ายน้ำไปอีก 2 สัปดาห์ เพราะเกรงจะไปแพร่เชื้อให้ผู้อื่นนั่นเอง

รู้จักโรคและวิธีรับมืออย่างนี้แล้ว คุณแม่ไม่กังวลแล้วล่ะค่ะ ตอนนี้มีแต่คอยระวังไม่ให้คุณแม่กับสามีที่รักติดต่อไปด้วย ที่เคยหอมแก้มกันวันละ 2-3 ฟอด เห็นจะต้องหยุดไว้ก่อนแล้ว สำหรับตอนนี้ มามะ…มาเจ้าตัวดีมาหยอดยา

กันไว้ก่อน...ดีแน่

ถ้ายังไม่อยากให้ตาแดงลามระบาดกันไปทั้งบ้านต้องดูเรื่องพวกนี้ค่ะ

พยายามอย่าให้ลูกขยี้ตา

ล้างมือลูกบ่อยๆ ทุกครั้งที่ทำอะไรให้ลูก เช่น หยอดยาแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาด แยกผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดมือไม่ให้ปะปนกัน

แยกผู้ป่วยที่เป็นอย่าให้อยู่ใกล้ชิดกับผู้อื่นจนหมด ระยะแพร่เชื้อ คือประมาณ 2 อาทิตย์นับจากเริ่มเป็น

ก่อนและหลังเช็ดหรือหยอดตาให้ลูก ต้องล้างมือให้สะอาดเสมอ เวลาเช็ดให้ใช้สำลีเช็ดจากหัวตาไปยังหางตา และเปลี่ยนก้อนใหม่เมื่อต้องเช็ดซ้ำหรือเปลี่ยนไปเช็ดอีกข้าง

ฝากไว้นิด

แม้ตาแดงเป็นโรคที่สามารถหายเองและป้องกันได้ แต่การพบจักษุแพทย์เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อตรวจให้แน่ใจว่า เป็นโรคตาแดงมิใช่เป็นอาการตาแดงจากโรคอื่น เช่น เชื้อแบคทีเรีย รวมทั้งเพื่อตรวจรักษาโรคแทรกซ้อน ที่อาจเกิดขึ้นได้